สังคมคาดหวังว่า ครู คือ
แบบอย่างที่ดีของศิษย์เป็นผู้สร้างสมาชิกใหม่ของสังคมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อสังคม
ธรรมชาติของอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องสัมผัสกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ
ฉะนั้นผู้ดำเนินอาชีพครูจึงต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และใฝ่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ครู
กับนักเรียนนับว่าเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุด
จนกระทั่งในอดีตยกย่องให้ครูเป็นบิดาคนที่สองของศิษย์
ผู้ปกครองเมื่อส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนก็ฝากความหวังไว้กับครู กล่าวคือ
มอบภาระต่าง ๆ ในการอบรมดูแล ลูกหลานของตนให้แก่ครู ดังนั้น
ครูจึงควรปฏิบัติหน้าที่ของครูให้สมบูรณ์ที่สุด
และควรสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีระหว่างครูและศิษย์ให้แน่นแฟ้น
ให้ศิษย์มีความรู้สึกฝังใจตลอดไป วาม
สัมพันธ์ระหว่างครูกับครูนับว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อการพัฒนาวิชาชีพครู
เพราะครูกับครูที่ทำงานสอนอยู่สถานศึกษาเดียวกัน
เปรียบเสมือนบุคคลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน
หากสมาชิกในครอบครัวเดียวกันมีความสมานสามัคคีอันดีต่อกันแล้ว
นอกจากจะทำให้การอบรมสั่งสอนนักเรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพแล้ว
ยังช่วยให้การปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ การพัฒนาสถานศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพครูก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
วิธีที่ครูควรปฏิบัติต่อครู เพื่อสร้างมนุษย์สัมพันธ์ต่อกัน
คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ
1. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ
ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม
และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง
โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว
2. ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง
การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม
ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์
3. ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง
ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิด
ประโยชน์แก่ตนและสังคม
4. ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่
สังคม
5. ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง
ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน
6. ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ
ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด
7. ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง
ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์
มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง
8. ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง
ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
9. ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ
หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ
มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ
10. ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน
หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น
ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์
Dictionary
of Education ได้ให้ความหมายของความรับผิดชอบไว้
ไว้ว่า “หน้าที่ประจำของแต่ละบุคคล
เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง” ส่วนความหมายของครู
ในที่นี้จะอธิบายตามรูปคำภาษาอังกฤษ คือ “Teachers” โดยสรุปจากคำอธิบายของ ยนต์ ชุ่มจิต
ในหนังสือ ความเป็นครู ดังนี้ (ยนต์ ชุมจิต 2531: น. 49–55)
T (Teaching) – การสอน หมายถึง
การอบรมสั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถในวิชาการทั้งหลายทั้งปวง
ซึ่งถือว่าเป็นงานหลักของครูทุกคนทุกระดับชั้นที่สอน ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
พ.ศ. 2526
ข้อ 3
กำหนดไว้ว่า
ครูต้องตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยเอาใจใส่
อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้ และในข้อ 6 กำหนดไว้ว่า
ครูต้องถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพรางไม่นำหรือยอมให้นำ
ผลงานทางวิชาการของตนเองไปใช้ในทางที่ทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
จากข้อกำหนดทั้ง 2 ข้อ
ที่นำมากล่าวนี้จะเห็นว่าหน้าที่ของครูที่สำคัญคือการอบรมสั่งสอนศิษย์
การถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ โดยเฉพาะในข้อ 3 ของระเบียบประเพณีของครู พ.ศ. 2526 นี้
ถือว่าการอบรมสั่งสอนศิษย์เป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก
จะละทิ้งหรือทอดทิ้งไม่ได้เพราะถ้าหากครูละทิ้งการสอนก็คือครูละทิ้งหน้าที่
ของครูซึ่งการกระทำเช่นนั้นจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางความคิดและสติปัญญา
ของศิษย์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ ศิษย์ของครูจะไม่ได้รับการพัฒนา ความคิด ความรู้
และสติปัญญา หรือได้รับบ้างแต่ก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
ดังนั้นครูทุกคนควรตระหนักในการสอนเป็นอันดับแรกโดยถือว่าเป็นหัวใจของความ
เป็นครูคือการอบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดีมีความรู้ในวิทยาการทั้งปวง
ซึ่งการที่ครูจะปฏิบัติหน้าที่ในการสอนของครูได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์นั้น
ซึ่งสำคัญที่ครูต้องเพิ่มสมรรถภาพในการสอนให้แก่ตนเอง
E(Ethics)- จริยธรรม
หมายถึงหน้าที่ในการอบรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลัก
อีกประการหนึ่งนอกจากการสั่งสอนในด้านวิชาความรู้โดยทั่วไปนอกจากนี้ครูทุก
คนจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นผู้มีจริยธรรมอันเหมาะสมอีกด้วยเพราะ
พฤติกรรมอันเหมาะสมที่ครูได้แสดงออกจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปลูกฝัง
ศรัทธาให้ศิษย์ได้ปฏิบัติตาม
A ( Academic) – วิชาการ หมายถึง
ครูต้องมีความรับผิดชอบในวิชาการอยู่เสมอ กล่าวคือ
ครูต้องเป็นนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา
เพราะอาชีพของครูต้องใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
ดังนั้นครูทุกคนต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ
หากไม่กระทำเช่นนั้นจะทำให้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นล้าสมัย
ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการใหม่ ๆ ซึ่งมีอย่างมากมายในปัจจุบัน
C (Cultural Heritage) – การสืบทอดวัฒนธรรม
หมายถึงครูต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากคน
รุ่นหนึ่งให้ตกทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หรือ รุ่นต่อ ๆ ไป
ซึ่งมีวิธีการที่ครูจะกระทำได้ 2 แนวใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
1. การปฏิบัติตามวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอย่างถูกต้องเป็นประจำ
กล่าวคือ
ครูทุกคนจะต้องศึกษาให้เข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของ
ชาติอย่างถ่องแท้เสียก่อน ต่อจากนั้นจึงปฏิบัติตามให้ถูกต้องและเหมาะสม
เพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปยึดถือเป็นแบบอย่าง เช่น
- การแต่งกายให้เหมาะสมตามโอกาสต่าง ๆ
- การแสดงความเคารพและกิริยามารยาทแบบไทย ๆ
- การจัดงานมงคลสมรส
2. การอบรมสั่งสอนนักเรียนให้เข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยอย่าง
ถูกต้อง และในขณะเดียวกันก็กระตุ้นส่งเสริมให้นักเรียนได้ประพฤติปฏิบัติตามให้ถูก
ต้องตามแบบฉบับอันดีงามที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
H ( Human Relationship) – มนุษย์สัมพันธ์ หมายถึง
การมีมนุษย์สัมพันธ์อันดีของครูต่อบุคคลทั่วๆไป
เพราะการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของครู
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้
การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีของครูยังช่วยทำให้สถาบันศึกษาที่ครูปฏิบัติ
งานอยู่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้น
ครูทุกคนจึงควรถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบอีกประการหนึ่งที่จะต้องคอย
ผูกมิตรไมตรีอันดีระหว่าง บุคคลต่าง ๆ ที่ครูมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
มนุษย์สัมพันธ์ระหว่างครูกับบุคคลต่าง ๆ
E (Evaluation) – การประเมินผล
หมายถึงการประเมินผลการเรียนการสอนนักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และความรับ
ผิดชอบที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของครูเพราะการประเมินผลการเรียนการสอน
เป็นการวัดความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ในด้านต่างๆหากครูสอนแล้วไม่มีการ
ประเมินผลหรือวัดผลครูก็จะไม่ทราบได้ว่าศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าในด้านใด มากน้อยเพียงใด
ดังนั้น ครูจึงควรจะระลึกอยู่เสมอว่า ณ ที่ใดมีการสอน ทีนั่นจะต้องมีการสอบ
สำหรับการประเมินผลการเรียนการสอนของนักเรียนนั้น ครูสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ
ได้หลายวิธี ทั้งนี้อาจจะใช้หลาย ๆ
วิธีในการประเมินผลครั้งหนึ่งหรือเลือกใช้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ในการประเมินผลการเรียนการสอนนั้นมีหลายวิธี
เช่น
1. การสังเกต หมายถึง การสังเกตพฤติกรรมการทำงาน
การร่วมกิจกรรมกลุ่มหรือความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
2. การสัมภาษณ์ หมายถึง
การสัมภาษณ์เพื่อต้องการทราบความเจริญก้าวหน้าทางด้านการเรียนของนักเรียน ซึ่งอาจจะเป็นการสัมภาษณ์ในเนื้อหาวิชาการที่เรียน
วิธีการเรียน หรือวิธีการทำงาน เป็นต้น
3. การทดสอบ หมายถึง การทดสอบความรู้ในวิชาการที่เรียน
อาจจะเป็นการทดสอบทางภาคทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติก็ได้
ถ้าจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ควรมีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในการ เรียนการสอนทุก
ๆ วิชา
4. การจัดอันดับคุณภาพ หมายถึง
การนำเอาผลงานของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่มมาเปรียบเทียบกันในด้านคุณภาพ
แล้วประเมินคุณภาพของนักเรียนแต่ละคนว่าคนใด ควรอยู่ในระดับใด
5. การใช้แบบสอบถามและแบบสำรวจ เป็นวิธีการประเมินผลการเรียนอีกแบบหนึ่ง
เพื่อสำรวจตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนทั้งของนักเรียนและของครู
6. การบันทึกย่อและระเบียนสะสม
เป็นวิธีที่ครูจดบันทึกพฤติกรรมความเจริญก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
7. การศึกษาเป็นรายบุคคล หมายถึง
เป็นวิธีการที่นิยมใช้กับนักเรียนที่มีปัญหาเป็นรายบุคคล ปัญหาในที่นี้หมายความว่า
ควบคุมทั้งเด็กที่เรียนเก่งและเด็กที่เรียนอ่อนรวมทั้งเด็กมีปัญหาในด้าน
พฤติกรรมต่าง ๆ ด้วย
8. การใช้วิธีสังคมมิติ เป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มเดียวกันประเมินคุณภาพของบุคคล
ในสมาชิกเดียวกัน เพื่อตรวจสอบดูว่า
สมาชิกคนใดได้รับความนิยมสูงสุดในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้านก็ได้
9. การให้ปฏิบัติและนำไปใช้
เป็นวิธีการที่ครูต้องการทราบพัฒนาการทางด้านทักษะหรือการปฏิบัติงานของนักเรียนหลังจากที่ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติให้แล้ว
R (Research) – การวิจัย หมายถึง ครูต้องเป็นนักแก้ปัญหา
เพราะการวิจัยเป็นวิธีการแก้ปัญหาและการศึกษาหาความจริง
ความรู้ที่เชื่อถือได้โดยวิธี การวิจัยของครูในที่นี้
อาจจะมีความหมายเพียงแค่ค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ที่นักเรียนมีปัญหาไปจนถึงการวิจัยอย่างมีระบบในชั้นสูงก็ได้
สาเหตุที่ครูต้องรับผิดชอบในด้านนี้ก็เพราะในการเรียนการสอนทุก ๆ วิชา
ควรจะต้องพบกับปัญหาต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ปัญหาเด็กไม่ทำการบ้าน เด็กหนีโรงเรียน
เด็กที่ชอบรังแกเพื่อน และเด็กที่ชอบลักขโมย เป็นต้น พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าครูสามารถแก้ไขได้ก็จะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดังนั้นการเป็นครูที่ดีคือต้องมีความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู
และพร้อมที่จะพัฒนาวิชาชีพของตนอยู่เสมอ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้เรียน
ทั้งด้านศีลธรรม วัฒนธรรม กิจนิสัย สุขนิสัย และอุปนิสัย ตลอดจนมีความเป็นประชาธิปไตย ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีความเมตตาแก่ศิษย์ และเห็นคุณค่าของศิษย์ มีสุขภาพสมบูรณ์
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิชาการ
และสามารถใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน
และสามารถเป็นผู้นำชุมชนได้ สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ภาษา
และการวิจัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นครูแบบใหม่ในระบบสากลได้
คือ เป็นครูที่เน้นความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อผู้เรียนเป็นหลัก
แนะนำผู้เรียนสามารถพัฒนาเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพและสร้างสรรค์ และให้ข้อมูลสะท้อนกลับผู้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง รู้วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น
เพราะการศึกษายุคใหม่เป็นการศึกษาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์มากขึ้นและต้องเป็นครูที่ต้องไปหานักเรียนมากขึ้น
เข้าเยี่ยมชุมชนได้มากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น